วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินโดยหญ้าแฝก


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการสูญเสียหน้าดิน ที่อุดมสมบูรณ์ จึงทรงศึกษาถึงศักยภาพของ“หญ้าแฝก”ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของไทยที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกัน การชะล้างพังทลายของหน้าดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน ซึ่งมีวิธีการปลูกแบบง่าย ๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องให้การดูแลหลังการปลูกมากนัก ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่น ๆ อีกด้วยจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยวกับหญ้าแฝกลักษณะของหญ้าแฝก หญ้าแฝกมีชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษว่า Vetiver Grass มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ หญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis A. Camus) และหญ้าแฝกหอม (Vetiveria zizanioides Nash)เป็นพืชที่มีอายุได้หลายปี ขึ้นเป็นกอแน่น มีใบเป็นรูปขอบขนานแคบปลายสอบแหลม ยาว 35-80 ซม. มีส่วนกว้าง 5-9 มม. หญ้าแฝกจะมีการขยายพันธุ์ที่ได้ผลรวดเร็ว โดยการแตกหน่อ จากลำต้นใต้ดิน ในบางโอกาสสามารถแตกแขนงและรากออกในส่วนของก้านช่อดอกได้ เมื่อหญ้าแฝกโน้มลงดินทำให้มีการเจริญเติบโตเป็นกอหญ้าแฝกใหม่ได้ การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ 1. การปลูกเป็นแถวตามระดับขวางความลาดชัน เพื่อชะลอความเร็วของน้ำ และดักตะกอนดิน ส่วนน้ำจะไหลซึมลงไปสู่ดินชั้นล่างได้มากขึ้น เป็นการเพิ่ม ความชุ่มชื้นในดิน ส่วนรากหญ้าแฝกจะหยั่งลึกลงไปในดินอาจถึง 3 เมตร ซึ่งสามารถยึดดินป้องกันการพังทลายได้ 2. การปลูกเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของดินเป็นร่องน้ำลึก 3. การปลูกในพื้นที่ที่มีความลาดชัน โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ ให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรั้วบริเวณคันคูขอบเขา หรือริมขั้นบันไดดินด้านนอก โดยควรปลูกเป็นแถวตามแนวขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน 4. การปลูกเพื่อการอนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดิน โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผล ปลูกแบบวงกลมรอบไม้ผล และปลูกแบบครึ่งวงกลมหงายรับน้ำฝน 5. การปลูกเพื่อป้องกันการเสียหายของขั้นบันไดดินหรือคันคูรับน้ำรอบเขา 6. การปลูกเพื่อป้องกันตะกอนดินทับถมลงสู่คลองส่งน้ำ ระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำในไร่นาตลอดจนปลูกรอบสระ หรือปลูกเป็นแถวขนานไปกับแม่น้ำ ลำคลองเพื่อกรองตะกอนดิน 7. การปลูกเพื่อฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม 8. การปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของไหล่ถนนที่ลาดชันสูง โดยปลูกหญ้าแฝกเพื่อยึดดินและเบี่ยงเบนทางน้ำไหลบริเวณไหล่ทางและปลูกขวางแนวลาดเทเพื่อป้องกันการพังทลายและเลื่อนไหลของดิน 9. การปลูกในพื้นที่ดินดาน รากหญ้าแฝกสามารถหยั่งลึกลงไปในดินดาน ทำให้ดินแตกร่วนขึ้น และหน้าดินจะมีความชื้นเพิ่มขึ้น 10. การปลูกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ รากหญ้าแฝกจะเป็นกำแพงกักกั้นดินและสารพิษที่ปะปนมากับน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่างและรากยังมีประสิทธิภาพในการดูดซับธาตุโลหะหนักและสารเคมีบางอย่างได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น ประโยชน์เอนกประสงค์อื่น ๆ ของหญ้าแฝก - ปลูกหญ้าแฝกบนคันนา เพื่อให้คันนาคงสภาพอยู่ได้นาน - ปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้ประโยชน์มุงหลังคา ตับหลังคาที่ทำจากหญ้าแฝกสามารถผลิตจำหน่ายได้ ส่วนรากที่มีความหอมนั้นคนไทยรุ่นเก่าเคยนำมาแขวนในตู้เสื้อผ้า ทำให้มีกลิ่นหอมและช่วยไล่แมลงที่จะทำลายเสื้อผ้าได้ - หญ้าแฝกมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ และแก้ไข้ได้ ส่วนรากสามารถนำมาสกัดทำน้ำมันที่มีประโยชน์และคุณค่าทางการค้าได้ อาทิเช่น ฝรั่งเศสผลิตน้ำหอมจากรากหญ้าแฝก ชื่อ “Vetiver”

ทฤษฎีใหม่ : การบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรตามพระราชดำริ


ในทุกคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้นได้ทรงถามเกษตรกรและทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการปลูกข้าวและเกิดแรงดล พระราช หฤทัย อันเป็นแนวคิดขึ้นว่า
1. ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก หากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มปริมาณเม็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น
2. หากเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ได้แล้ว นำมาใช้ในการเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน
3. การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัด ของปริมาณที่ดิน เป็นอุปสรรคสำคัญ
4.หากแต่ละครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้วเมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แต่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงมากกว่า
ในเวลาต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการทดลอง"ทฤษฎีใหม่"เกี่ยวกับการจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรขึ้นณวัดมงคลชัยพัฒนาตำบลห้วยบงอำเภอเมืองจังหวัดสระบุรีแนวทฤษฎีใหม่กำหนดขึ้นดังนี้ให้แบ่งพื้นที่ถือครอง ทางการเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทย มีเนื้อที่ดินประมาณ 10-15 ไร่ต่อครอบครัว แบ่งออกเป็นสัดส่วน 30-30-30-10 คือ
ส่วนแรก : ร้อยละ 30 เนื้อที่เฉลี่ย 3 ไร่ ให้ทำการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยมีความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้จุถึง 19,000 ลูกบาศก์เมตรโดยการรองรับจากน้ำฝน ราษฎรจะสามารถนำน้ำนี้ไปใช้ในการเกษตร ได้ตลอดปีและยังสามารถเลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ พืชริมสระเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนที่สอง : ร้อยละ 60 เนื้อที่เฉลี่ย ประมาณ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชผลต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็น2ส่วนคือร้อยละ30ในส่วนที่หนึ่ง:ทำนาข้าวประมาณ5ไร่ร้อยละ30ในส่วนที่สองปลูกพืชไร่หรือพืชสวนตามแต่สภาพ ของ พื้นที่และภาวะตลาด ประมาณ 5 ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวนโดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ในพื้นที่ทำการเกษตร นี้ต้องมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ถ้าหากแบ่ง แต่ละแปลงเกษตรให้มีเนื้อที่ 5 ไร่ ทั้ง 2 แห่งแล้ว ความต้องการน้ำจะต้อง ใช้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง
ส่วนที่สาม : ร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ที่ เหลือ มีเนื้อที่เฉลี่ยประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง คันคูดินหรือคูคลอง ตลอดจนปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวพระราชดำริใหม่ที่บัดนี้ได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่าง กว้างขวางในหมู่เกษตรกรไทยแล้วว่า พระราชดำริของพระองค์เกิดขึ้นด้วย พระอัจฉริภาพ สูงส่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ความสมบูรณ์พูนสุขแห่งราชอาณาจักรไทย อุบัติขึ้นในครั้งนี้ด้วยพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมของพระมหากษัตริย์ไทยผู้มิเคยทรงหยุดนิ่งที่จะระดมสรรพกำลังทั้งปวงเพื่อความผาสุข ของชาวไทย

ทฤษฎี "แกล้งดิน" อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่า หลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุเพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฎว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วยการแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรีย์วัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อย อยู่ข้างบนและมีระดับความลึก 1-2 เมตรเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS2) อยู่มาก ดังนั้นเมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ "แกล้งดิน" เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ "แกล้งดินให้เปรี้ยว" ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น "แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด" จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้

ที่จับแมลงวันแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน


เมื่อวานดูสะเก็ดข่าวเค้าเสนอวิธีการทำที่จับแมลงวันแบบมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจิง ๆ วิธีการทำก้อง่ายมาก เตรียมอุปกรณ์ดังนี้
ขวดน้ำอัดลมแบบลิตร 3 ขวด
เทปกาว
กับดัก (อาหาร)
ดูรูปปลากรอบ
วิธีการทำก้อง่ายแบบคิดไม่ถึงจิง ๆ
นำขวดที่1 มาเจาะรูเยอะแบบให้แมลงวันเข้ามาได้มาต่อกันขวดที่ 2 แล้วก้เอาขวดที่ 2 ไปต่อกันขวดที่ 3 ที่มีน้ำอยู่เพื่อให้แมลงวันตกลงไปตายชักดิ้นชักงอ 555(ทรมานสัตว์มาก แต่มันเป็นพาหฯะนำโรคนิน่า แล้วน่ารำคาญมาก)
นำขวดที่1ไป ครอบที่กำดักที่เราวางไว้
ดูผลการทดลองคับ
แมลงวันเมื่อเข้ามาดมกับดักของเรา มันจะไม่บินลงข้างล่างคับ มันจะบินขึ้นอย่างเดียว ดังนั้นมันก้อเข้าไปขวดที่2 เมื่อเข้าไปแล้วมันขึ้นต่อไปไม่ได้มันก้อจะหา รูอากาศซึ่งก้อเป็นขวดที่3 ที่นี่ก้อเสร็จละจิ ขวดที่3 ไม่มีทางออก มันก้อจะบินจนเหนื่อยแล้วตกมาตาย แงก ๆ
ที่นี้เราก้อไปแนะนำร้านขายอาหารที่ชอบเลี้ยงแมลงวันให้ลองทำแบบนี้ดูวันหยุด ดีกว่าเอากาวเหนียว ๆ มาประดับยังกับดอกไม้ ไอ้คนกินก้อสดชื่นล่ะซิคับ

น้ำส้มควันไม้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างสารอินทรีย์

น้ำส้มควันไม้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างสารอินทรีย์
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งของประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร แต่ทุกวันนี้มีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพร่างกายของมนุษย์ มีราคาแพงไม่คุ้มกับผลผลิตที่ได้ ชาวบ้านจึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการที่จะลดปริมาณการใช้สารเคมี โดยมีการทดลองใช้สารอินทรีย์ในหลายๆ รูปแบบและพยายามคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ
นายเชิด พันธ์เพ็ง แกนนำชุมชน จ.อยุธยาเล่าว่า ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกได้ทดลองทำสารสกัดน้ำส้มควันไม้ขึ้น จึงได้ชักชวนกันไปศึกษาดูงาน จากนั้นจึงได้ลงมือปฏิบัติทำน้ำส้มควันไม้ ภูมปัญญาชาวบ้าน สร้างสารอินทรีย์ขึ้นมา แรกเริ่มมีคนทำอยู่ 10 คน โดยชาวบ้านจะนำไม้ที่กรมทางหลวงตัดทิ้ง จากการตัดแต่งต้นไม้ริมถนนหรือใช้ไม้ในสวนบ้าง โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องทำครัวเรือน ไม่ให้ทำเป็นเชิงธุรกิจ เพราะจะทำให้ต้นไม้หมดไปได้ ถ้าไม่มีการปลูกทดแทน
ขั้นตอนในการทำน้ำส้มควันไม้ เริ่มจากก่ออิฐบล็อก กว้างและสูงประมาณ 1.5 เมตร และยาวประมาณ 2 เมตร นำถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ตัดปากให้กว้างและเจาะปลายถังให้เท่ากับกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาวางแล้วใส่ตะแกรง นำไม้ที่จะเผาใส่ลงไปในถังแล้วติดไฟจนคิดว่าเตาติดแล้วจึงปิดปากเตาพอประมาณฝ่ามือเพื่อปล่อยอากาศเข้าไป เมื่อดูแล้วควันเป็นสีน้ำตาลจึงนำไม้ไผ่ไปครอบไว้กับท้ายเตาเผาที่มีปล่องเจาะไว้เพื่อจะให้อากาศออก เมื่อความร้อนที่เผาไหม้ลอยออกทางปลายไม้ไผ่กระทบกับความเย็นรวมตัวกันเป็นหยดน้ำแล้วทิ้งไว้จนเตาเผาดับใช้เวลาประมาณ 24ชั่วโมง ก็จะได้น้ำส้มควันไม้ โดยเตาหนึ่งจะได้น้ำส้มควันไม้ประมาณ 5 ลิตร นำมาทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 3 เดือน จึงนำออกมาทดลองใช้ ส่วนถ่านที่ได้ก็สามารถนำไปขายถือว่าได้กำไรสองต่อ
นายเชิด พันธ์เพ็ง เล่าอีกว่า แต่ก่อนชาวบ้านจะใช้ปุ๋ยและฉีดสารเคมีในการปลูกพืชผักและฉีดพ่นกันแมลง ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตสูงมาก จึงคิดทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุน การไปดูงานที่ ม.นเรศวร ทำให้ชาวบ้านเห็นทางออกที่จะนำ เชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม พยายามให้ชาวบ้านหันกลับมาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นการตัดตกแต่งกิ่งไม้ให้นำมาเผาถ่าน เพื่อทำน้ำส้มควันไม้เพื่อเอาไปรดพืชผัก รดข้าว แล้วบางส่วนก็เอาไปทดลองกับสัตว์ ชาวบ้านบอกว่าได้ผลดีมากจึงได้ช่วยกันลงมือทำน้ำส้มควันไม้อย่างเอาจริงเอาจัง
จากการทดลองใช้น้ำส้มควันไม้กับพืช เช่นผักบุ้ง เริ่มตั้งแต่เตรียมดินแล้วฉีดยาพ่นตากดินทิ้งไว้จึงปลูกผัก เมื่อพืชแทงยอดอ่อนขึ้นมาจึงฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ลงไปอีกประมาณ 3 ครั้ง โดยอัตราส่วนที่ใช้น้ำส้มควันไม้ 20 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร จะไม่มีแมลงมารบกวนเลย ลำต้นจะแข็งแรงมาก เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วน้ำหนักดี ทิ้งไว้ค้างคืนลำต้นจะไม่เหลือง รสชาดดี เป็นที่ยอมรับของตลาด
ด้านนายพำ เสนานาท เครือข่ายน้ำส้มควันไม้ อำเภอเสนา เล่าว่ามีความสนใจจึงได้เข้าร่วมฟังเวทีแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านและได้รับการชักชวนจากคุณเชิด เลยลองทำดู เตาแรกไม่ได้ผลเลย ต่อมาทำเตาที่สองก็ได้ผลประมาณ 50 % จนมาถึงเตาที่ 5 ได้ผลเกือบ 100 % เพราะนั่งเฝ้าดูตลอดเวลาและทำตามขั้นตอนอย่างละเอียด ไม้ที่ใช้ส่วนมากจะใช้ไม้แห้งซึ่งเป็นไม้ที่ให้น้ำส้มควันไฟดีมีความเข็มข้นได้ดีกว่าไม้เปียก
ตอนแรกก็ปลูกผักหลายๆ อย่าง ใช้สารเคมีไปก็แพ้สารเคมีจึงได้เริ่มใช้น้ำส้มควันไม้ โดยทดลองกับดาวเรืองและบานไม่รู้โรย ลำต้นแข็งแรงดีมาก ดอกดกจนต้องตัดทิ้งก็มี ซึ่งฉีด 7 วันต่อครั้งระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวนาน เหี่ยวเฉาช้าอยู่ได้ 4-5 วัน ตอนนี้ไม่ได้ใช้สารเคมีมา 2 ปีแล้ว
ส่วนถ่านที่เผารู้สึกว่าไฟจะกล้าดีมากและอยู่ได้นาน ปัจจุบันนี้ไม่มีถ่านจะขาย ไม่พอส่ง เจ้าหนึ่งจะสั่งทีละ 100 ถุง ต้องสั่งจากเครือข่ายมาขาย
กรณีที่นำมาใช้กับสัตว์ คือสุนัขที่เป็นโรคเรื้อน เอาสำลีชุบกับน้ำส้มควันไม้ทาสัก 1-2 อาทิตย์จะทำให้หายได้ โดยแผลจะแห้งและมีขนขึ้นตามปรกติ นอกจากนี้ยังสามารถทากันยุงได้ด้วยจะมีอาการแสบนิดหน่อยในตอนแรกสักพักจะเย็น
ด้านนายคำพา หอมสุดชา เครือข่ายน้ำส้มควันไม้ อำเภอภาชี เล่าว่า การทดลองนำน้ำส้มควันไม้มาใช้กับนาข้าว แล้วฉีดพ่น 4 ครั้ง ได้ผลเกือบ 100% สภาพดินดีขึ้น คือดินที่แข็งสามารถทำให้ร่วน ผลผลิตได้มากกว่าเดิม จากปกติ 1 ไร่ ได้ 70 ถัง แต่พอใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ไร่ ได้ 110 ถัง ไม้ที่ใช้เผาส่วนมากจะเป็นสะเดาและสะแก เมื่อก่อนต้นทุนที่ใช้สารมีตกไร่ละ 2500 บาท แต่พอใช้น้ำส้มควันไม้ตกไร่ละ 1000 กว่าบาทเท่านั้นจะเห็นได้ว่าต้นทุนลดลง ทุกวันนี้ปุ๋ยยูเรียไม่ได้ใช้แล้ว ส่วนผักที่ปลูกอยู่ในบริเวณข้างๆ เตาจะงามมากอย่างเห็นได้ชัด
ทุกวันนี้ชาวบ้านมีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันมีเครือข่ายเกือบทุกอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีน้ำใจไมตรีเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ อาศัยธรรมชาติที่มีอยู่
นายประพันธ์ สีดำ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)