วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ภูมิปัญญาชาวบ้าน





<ทดสอบ>

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

การเลี้ยงไก่ชนให้ถึงบ่อน

พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ต้องมั่นใจ โดยเฉพาะแม่พันธุ์จะเก่ง จะอึด จะทน
เหนียว สู้เต็มร้อย แม่ต้องดีต้องลงเหล่า เลือดนิ่ง
พ่อพันธุ์ต้องผ่านสังเวียน พิสูจน์ความเก่ง
ความเหนียวจากสนามชนมาแล้ว
การปล้ำคัดไก่ เมื่อไก่มีอายุ 5-6 เดือน เลือกเอาไก่ที่สมบูรณ์
ไม่พิการ ท่าทางดี เอามาเลี้ยงบำรุง พออายุ 8-9 เดือน ก็สุดปีกสุดหาง
เสียงขันชัดเจน เริ่มสู้ไก่ ก็นำไก่มาครอบสุ่มเลี้ยง กราดน้ำกราดแดด
สัก 10 วัน ลองปล้ำ ซ้อมกับไก่รุ่นราวเดียวกันสัก 15 นาที ซ้อมดูเชิง
ดูลำโต ดูรอยตี ถ้าใช้ได้เลี้ยงต่อ การปล้ำคัดไก่นี้จะปล้ำประมาณ 3
อัน โดยซ้อมครั้งละ อัน 20-25 นาที แล้วแต่สภาพไก่
สู้ไม่ได้ก็ต้องยอมเขาไปก่อน มิเช่นนั้นจะเสียไก่
การซ้อมวัดใจ 2 อันเต็มๆ
คือหลังจากนำไก่มาครอบสุ่มเลี้ยงและปล้ำคัดไก่มาแล้วประมาณ 3 ครั้ง 3
อัน ไก่จะเริ่มมีความแข็ง เนื้อหนังดี อายุได้
แล้วนำมาซ้อมวัดใจให้ได้ 2 อัน ถ้าไก่เชิงดี ตีจัด
ซ้อมไม่ค่อยได้อันเราต้องพันผ้าหุ้มเดือยให้หนาสักนิด
คู่ต่อสู้จะได้ทนได้ การที่ต้องซ้อมโหดๆ 2 อันก็เพื่อจะดูการยืน
การยืดเวลา การตีลำตกไหม แรงบินได้ไหม เหนื่อยหอบหรือเปล่า
เมื่อเหนื่อยหอบลืมเชิง ลืมลำตีไหม ใจสู้ไหม จิตใจมั่นคง
เหนียวหรือเปล่า ขั้นตอนนี้ต้องซ้อมให้ถึง อย่าสงสารไก่
ต้องให้ไก่เจ็บ ให้เหนื่อย ให้รู้จักแก้สถานการณ์ เราจะรู้ฝีตีนไก่
รู้น้ำใจไก่ ถ้าซ้อมผ่านโอกาสถึงบ่อนมีสูง
แต่ไก่ส่วนมากจะถูกคัดออกจากขั้นตอนนี้
ตัวไหนไม่ผ่านอย่าไปฝืนเลี้ยงออกตี ให้ยอมเสียเวลาไปเลี้ยงบำรุง
กินดี นอนดี ออกกำลังดี แล้วกลับมาซ้อมวัดใจอีกครั้ง ถ้าผ่านใช้ได้
ถ้าไม่ผ่านอีกตัดใจทิ้งไปเลย
การถอนตีน เลี้ยงบำรุงก่อนออกตี
เมื่อไก่ผ่านด่านวัดใจมาจะมีความบอบช้ำ ได้หน้า ได้คอ
ได้แผลตามที่ต่างๆ เราต้องนำมาถ่ายยา จัดหาอาหารบำรุง อาหารเสริม
ให้ไก่ออกกำลังโยนเบาะ วิ่งสุ่ม วิ่งล่อทางตรง ทางโค้ง ทวนเชิง
เมื่อไก่สมบูรณ์หน้าแดง ตีปีกพั่บๆ เราต้องถอนตีนอีก 1 อัน
คือซ้อมคู่อีก 1 อัน ไก่คู่ซ้อมไม่ต้องแกร่งมาก
หลังจากถอนตีนเสร็จก็เลี้ยงบำรุงออกตีได้เลย
การเปรียบไก่และเดิมพัน ขั้นตอนนี้จะว่าง่ายก็ง่าย ว่ายากก็ยาก
การเปรียบไก่มีสูตรประจำตัวที่หนีไม่สู้เขาอยู่ 3 ข้อ คือ
ตัวโต(สูง)
อายุดี(ลูกถ่าย แซม)
ตอยาว
ถ้าคู่ต่อสู้ได้เปรียบเราทั้ง 3 อย่างก็ไม่ควรจะตี
หลังจากเปรียบได้คู่ ดูพอสมน้ำสมเนื้อกันแล้ว ก็ค่อยพูดถึงเดิมพัน
การพักไก่หรือการคืนตัวไก่ก่อนออกชน
การเลี้ยงไก่ออกชนทุกครั้ง เราต้องเลี้ยงเป็นเวลานานพอสมควร
เลี้ยงเพื่อหวังชัยชนะกันทุกคน บางคนเลี้ยง 15 วัน บางคนเลี้ยง 21 วัน
บางคนเลี้ยงเป็นเดือนก็มี แล้วแต่วิธีการเลี้ยงของแต่ละคน
แต่ถ้าเลี้ยงนานๆยิ่งดี เพราะจะได้เปรียบคู่ต่อสู้เรื่องความเข้มแข็ง
แต่ก็ขึ้นอยู่กับไก่ด้วยเหมือนกัน
ว่าไก่ที่เลี้ยงอยู่นั้นเป็นไก่หนุ่มหรือไก่ถ่าย
ถ้าเป็นไก่หนุ่มไม่ควรเลี้ยงนานจนเกินไป
ส่วนการเลี้ยงไก่แซมหรือไก่ถ่ายนั้นยิ่งเลี้ยงนานยิ่งดี
การเลี้ยงไก่ทุกครั้งจะขาดเสียไม่ได้คือยาสมุนไพรต่างๆ
เช่นยาบำรุงร่างกายสำหรับให้ไก่กินในระหว่างการเลี้ยงเพื่อออกชน
และต้องให้กินทุกวันก่อนนอนเป็นประจำ
เพราะจะทำให้ไก่เคยชินกับยาสมุนไพรนั้นๆ
หลังจากที่เราเลี้ยงไก่จนครบกำหนดวันที่จะออกชน
ข้อสำคัญเราต้องมีการพัก หรือการคืนตัวไก่
การพักหรือการคืนตัวไก่ ก็เพื่อให้สภาพร่างกายของไก่ได้คล่องตัวในการชน
เพราะตลอดเวลาที่เราเลี้ยงมานั้น เราทั้งลงขมิ้น ลงกระเบื้อง
ตามร่างกายของไก่มาเป็นเวลานาน
ร่างกายของไก่จึงมีอาการตึงตามตัวและขนของไก่
การพักเพื่อคืนตัวไก่นั้นไม่ควรพักเกิน 2 วัน
ถ้าพักมากอาจทำให้ไก่ลืมตัวไปเลยก็มี
วันแรกพอแดดออกเราเริ่มกราดน้ำด้วยน้ำซาวข้าว
แล้วนำไปตากแดดให้แห้งอย่าให้หอบ นำเข้าร่มแหย่คอเอาเสลดออกให้หมด
พอหายเหนื่อยดีแล้วให้กินข้าว กินน้ำ
แล้วนำไปปล่อยเล้าที่มีบริเวณกว้างๆ
และในเล้านั้นควรให้มีหลุมฝุ่นให้ไก่ได้เล่นด้วย
เพราะฝุ่นนั้นจะช่วยคลายตัวอีกทางหนึ่ง
พอบ่ายก็นำไก่มาขังสุ่มเพื่อต้องการให้ไก่ได้สลัดฝุ่นออกจากตัวให้หมด
แล้วก็ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
แล้วนำไปตากแดดให้แห้งอย่าให้ไก่หอบเป็นอันขาด พอขนแห้งให้นำไก่เข้าร่ม
แหย่คอเอาเสลดออก พอหายเหนื่อยก็ให้ข้าว
และก็ตามด้วยยาสมุนไพรที่จัดเตรียมไว้ ยาบำรุงควรให้อย่าให้ขาด
ทำอย่างนี้ 2 วันก็พอ
แต่ถ้าวันออกชนกระเพาะเกิดไม่ย่อยห้ามนำไปชนอย่างเด็ดขาด

การเช็คความสมบูรณ์ก่อนออกชน
วิธีตรวจเช็คความสมบูรณ์ของไก่ก่อนที่จะออกชนนั้นมีรายละเอียดต่างๆดังต่อไปนี้

ตรวจเช็คดูผิวพรรณไก่โดยรวมๆ ไก่ที่จะออกชนได้ต้องผิวพรรณดี
เป็นสีแดงระเรื่อหรือแดงสด ไม่ว่าจะเป็นหงอน หน้าตา
ผิวพรรณตามส่วนต่างๆ
หากว่าไก่มีหงอนดำหรือคล้ำกว่าปกติและผิวพรรณไม่ดี
หรือถอดสีแดงแสดงว่าไก่ไม่สมบูรณ์(ไก่ถอดสีหมายถึง
ไก่ที่จับดูสักระยะหนึ่ง ผิวพรรณของไก่จะขาวซีดลง)
ตรวจเช็คน้ำหนักของไก่
โดยให้สังเกตน้ำหนักเดิมของไก่ว่ามีน้ำหนักเท่าใด
แล้วต้องดูตามความเหมาะสมของไก่แต่ละตัว
การเช็คน้ำหนักของไก่ให้เช็คน้ำหนักของไก่ให้ชั่งดูก่อนซ้อมปล้ำ
และเมื่อซ้อมปล้ำดูแล้วไก่แข็งแรงบินดี สมมุติว่าไก่น้ำหนักก่อนปล้ำ
2.8 กิโลกรัม เมื่อซ้อมปล้ำดูแล้ว ปรากฏว่าไก่บินดี แข็งแรง
ก็ให้คุมน้ำหนักไก่ตัวนั้นให้มีน้ำหนักในวันเลี้ยงสุดท้ายก่อนออกชนที่
2.8 กิโลกรัม หรือเพิ่ม-ลด เล็กน้อย
ตรวจเช็คดูว่าไก่ย่อยหมดหรือไม่ ในวันที่จะนำไก่ออกชน
ก่อนนำไก่ออกจากเล้านอน ให้ตรวจเช็คที่กระเพาะไก่ว่าย่อยหมดหรือยัง
กระเพาะไก่ต้องไม่มีอาหาร คือต้องว่างไม่มีอะไรเลย
หากว่ายังมีอาหารในกระเพาะแสดงว่าไก่ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้ามีอยู่เล็กน้อย
แล้วย่อยหมดในช่วงสายๆก็พอใช้ได้
ตรวจเช็คดูขี้ไก่
ไก่ที่ร่างกายสมบูรณ์ขี้จะเป็นก้อนเล็กๆไม่แข็งหรือเหลวเกินไป
ลักษณะคล้ายขี้ของนกเขา
หากว่าขี้แข็งก้อนใหญ่เกินไปแสดงว่าระบบย่อยอาหารไม่ดี
หากว่าขี้เหลวมีสีเหลืองแสดงว่าไก่ท้องเสีย
แต่ถ้าหากขี้มีสีน้ำตาลเพราะเราให้อาหารประเภทไข่หรือเนื้อไก่ก็จะขี้เป็นสีน้ำตาล
ไก่ที่จะออกชนควรจะมีขี้สีเขียวไม่เข้มมากนัก
ขี้ไม่แข็งหรือเหลวเกินไป ขี้ไม่ก้อนใหญ่เกินไป
ตรวจเช็คดูตาและคอ ตาของไก่ต้องไม่มีพยาธิในตา ตาต้องไม่บวม
ไม่มีฟองหรือมีน้ำตา หากว่าไก่มีอาการเจ็บคอ เช่น
เสียงขันผิดปกติจากเดิม คอมีกลิ่นเหม็น
ถ้าไก่มีอาการเหล่านี้ไม่ควรนำออกชน
ตรวจเช็คอากัปกิริยาของไก่ ไก่ที่จะออกชนต้องมีอาการปกติ คือ
ก่อนเคยมีท่าทาง อากัปกิริยาอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น
นอกเสียจากว่าจะกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ถ้าหากว่าไก่มีอาการ เซื่อง
ซึม ไม่กินอาหาร ย่อยไม่หมด แสดงว่าไก่ไม่สมบูรณ์
ถ้าหากไก่มีอาการใช้นิ้วเกาที่บริเวณจมูกบ่อยๆ หรือมีน้ำมูกที่รูจมูก
แสดงว่าไก่จมูกตันหรืออาจจะเป็นหวัด ไม่ควรนำออกชนอย่างยิ่ง
ตรวจเช็คดูขา นิ้ว เดือย และการเดิน
ไก่ที่จะออกชนต้องไม่มีอาการนิ้วเจ็บ ขาเจ็บ เช่นว่า
ถ้าไก่ยืนยกขาด้านใดด้านหนึ่งอยู่เป็นประจำ
แสดงว่าไก่เจ็บขาหรืออาจจะเจ็บบริเวณใต้ฝ่าเท้า หรือนิ้วต้องตรวจเช็ค
ว่าไก่เจ็บที่ใด และต้องตรวจดูที่เดือยของไก่ด้วยว่ามีอาการช้ำ โยก
หรือห้อเลือดหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ไม่ควรนำไก่ออกชน
ตรวจเช็คดูปีกและน้ำขน ไก่ที่จะออกชนต้องยังไม่หลุด
หรือถ้าหากว่าจะหลุดแล้วแต่ยังเพิ่งเริ่มหลุดก็ยังพอออกชนได้
แต่ถ้าหลุดเยอะและขนหมดมันหรือขนแห้งมากเกินไป ไม่ควรนำไก่ออกชน
เพราะไก่ที่หลุดถ่ายขนร่างกายจะไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก
เพราะพลังงานส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการสร้างขนใหม่
จึงไม่ควรนำไก่ออกชนอย่างเด็ดขาด

การเตรียมตัวไก่เข้าสังเวียน
การให้อาหารขณะชน
ในวันที่นำไก่ออกชน ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงจะไม่ให้อาหารไก่เต็มที่เท่าไรนัก
บางคนให้กินเพียงไข่ต้มสุกเพียงใบเดียว หรือบางคนตำข้าวให้ไก่กิน
ดังนั้นเมื่อเปรียบไก่ได้คู่แล้ว ควรให้อาหารไก่กินจนอิ่ม
แต่ไม่ควรให้แน่นเกินไป อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารสุกที่เตรียมไว้ให้กิน
และพยายามไม่ให้กิน
อาหารที่คนอื่นให้หรือไม่รู้ที่มาของอาหารเพื่อความปลอดภัยของตัวไก่
การให้ยาโด๊ป
ในการให้ยาโด๊ป
ต้องกะระยะเวลาในการให้ยาตามที่ผู้ผลิตได้บอกไว้ในฉลากยา
เพื่อให้ยาได้ออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ควรให้ยาโด๊ปหลังจากที่ให้อาหารไก่เรียบร้อยแล้ว
และควรทำตามลายละเอียดต่างๆที่ผลิตว่าไว้ทุกขั้นตอน
ควรงดอาหารเสริมประเภทแตงกวา ไข่ น้ำมะพร้าว
เพราะอาหารเหล่านี้จะดูดซับ ทำให้ยาโโปออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
และไม่ควรให้ยาโด๊ปกินไว้ก่อน
เพราะมีบางคนเข้าใจผิดพยายามให้ยาตัวที่ยังไม่ควรให้
หรือให้ยาโด๊ปมากเกินไป จะทำให้ไก่เกิดอาการช็อกยาโด๊ปได้
ซึ่งเมื่อไก่ช็อกแล้วจะทำให้ไก่มึน งง ยืนให้ไก่คู่ต่อสู้ตี
และหงอนจะดำ ซึ่งจะส่งผลให้แพ้ได้ง่าย
การต่อปีก
ปีกไก่ที่ดีจะต้องมีกระดูกหนา ขนปีกหนาเรียงชิดติดกัน
อย่างเป็นระเบียบเป็นโค้งลอนเดียว ขนปีกไม่ขาด สนับปีกหนา
ทุกส่วนถูกต้องตรงตามสีไก่ ไก่ชนตามบ่อนไก่จะไม่ค่อยสนใจเท่าไร
เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นไก่ต่อปีก ขนที่ต่ออาจจะไม่เข้ากับสีตัวไก่
ขอให้บินดีเป็นใช้ได้
ปีกไก่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ปีกไก่ลอนเดียว คือปีกธรรมดา
เมื่อคลี่ออกทางคล่ำจะเห็นว่าขนปีกเรียงกันเป็นแถว ไปจนสุดปีก
ปีกไก่สองลอน คือปีกเมื่อคลี่ออกทางคว่ำจะเห็นว่าปีกแบ่งออกเป็น 2
ตอน ปีกชนิดนี้ถ้าถูกไก่เชิงมัด มุดโผล่ออกตอนกลางลอน
ก็จะเสียเชิงมาก เพราะปลดไม่ค่อยออก ถ้าไม่ถูกไก่เชิงมัดก็ไม่เป็นไร
ปีกไก่แบ่งออกเป็น 9 ลักษณะ คือ
ปีกหนา ดี
ปีกยาว ดี
ปีกสั้น ถ้าหนาและใหญ่ก็ใช้ได้
ปีกใหญ่ ดี
ปีกขนแข็ง เป็นมัน ดี
ปีกบาง ไม่ดี
ปีกขนเปราะ ไม่ดี
ปีกเล็ก ไม่ดี
ปีกใยแตก ไม่ดี แต่ถ้าเป็นเพราะเปียกน้ำ ก็ระวังรักษาให้หายได้
โดยระวังไม่ให้เปียกน้ำอีก
ในส่วนของปีกไก่ ถ้าหนาใหญ่ขนแข็งเป็นมันยิ่งดี มีกำลังบินดี
ถ้าปีกเล็กไม่มีกำลังบิน ปีกจะตกห้อยจากไหล่แสดงว่าหมดกำลัง
ถ้าปีกสั้นแต่หนาใหญ่ขนแข็งเป็นมัน ก็ยังดีใช้ได้
การเคียนเดือย
การเคียนเดือยนอกจากจะเป็นการเตรียมไก่ให้พร้อมก่อนลงสนามแล้ว
การเคียนเดือยยังเป็นการป้องกันไม่ให้เดือยโค่นหรือเดือยหัก ขณะชน
ส่วนวิธีการเคียนเดือยก็แล้วแต่ว่าไก่ตัวนั้นเดือยสั้นหรือเดือยยาว
มือน้ำจะรู้เองว่าจะเคียนกี่รอบก็แล้วแต่ความเหมาะสม
แต่โดยปกติแล้วไก่ที่เดือยสั้น มักจะไม่เคียนเดือย
เพราะไก่ที่เดือยสั้น
โอกาสที่เดือยจะโค่นหรือหักนั้นมีน้อยกว่าเดือยยาว
การเคียนเดือยเราจะเคียนรองโคนเดือย ส่วนการพันเดือยเราจะพันรอบเดือย
การเคียนเดือยเราจะเคียนเพื่อป้องกันเดือยโค่นหรือเดือยหัก
ส่วนการพันเดือยพันเพื่อป้องกันเดือยโผล่
ในการเคียนเดือยจะต้องไม่เคียนแน่นหรือหลวมจนเกินไป
เพราะจะทำให้ไก่กังวลมากเกินไป นำไปถึงการไม่ตีไก่

เคล็ดลับการเลี้ยงไก่ชน ชนในเวลากลางคืน
การชนไก่นั้นเวลาเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
ถ้าเราเปรียบคู่ได้ตอนบ่ายหรือตอนท้ายๆ
พอได้เวลาชนก็เย็นมากแล้วกว่าจะรู้แพ้ รู้ชนะก็กินเวลาเข้าไป 3-4 ทุ่ม
บางคู่อาจถึงเที่ยงคืน
เพราะฉะนั้นเคล็ดลับในการเลี้ยงไก่เพื่อออกชนเลยเวลาไปจนถึงกลางคืน
ในการเลี้ยงก็เลี้ยงไปตามปกติที่เคยเลี้ยงอยู่ แต่พอถึงเวลาเย็น
อาจจะล่อบ้างเล็กน้อย พอล่อเรียบร้อยแล้ว
ก็ทำตัวให้ไก่เรียบร้อยให้ไก่หายเหนื่อยดีแล้ว ก็ให้กินข้าว
กินยาบำรุงต่างๆ ให้เรียบร้อย พอประมาณ 1-2 ทุ่ม
ให้เริ่มกราดน้ำอุ่นๆค่อนข้างร้อนหน่อย กราดตามลำตัวให้ทั่วๆ
เอาถุงพลาสติกใส่ปีกเสียทั้งสองข้าง แล้วลงกระเบื้องให้ทั่วๆตัว
ให้นานหน่อย ให้เสร็จประมาณ 3-4 ทุ่ม ทำทุกวันจนกว่าจะถึงวันชนจริงๆ
ไก่จะได้เคยชินกับการนอนดึกๆ
การเลี้ยงแบบนี้จะได้เปรียบคู่ต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง
เพราะปกติแล้วไก่จะห่วงคอน ห่วงรัง พอค่ำก็จะรีบขึ้นคอน ขึ้นรังนอน
เราจะได้เปรียบตรงที่ว่าไก่เราไม่เคยนอนหัวค่ำนั้นเอง
ไก่จะนอนได้เต็มที่ก็ตอนพักคืนตัวสองวันเท่านั้น ไก่นอนเต็มที่ 2
วันก็พอแล้ว ข้อสำคัญต้องปิดไฟฟ้าในบริเวณที่ไก่นอนให้มืด
และก็อย่าให้เสียงดัง ไก่จะได้พักผ่อนได้เต็มที่ ไก่นั้นเขาจะตื่น 2
เวลา คือเวลาเที่ยงคืน กับเวลาตี 5 เพราะฉะนั้นก่อนออกชน 2
วันควรให้ไก่พักผ่อนให้เต็มที่

การเช็คความพร้อมก่อนเข้าสังเวียน
1. ให้เช็คดูปีก ว่าปีกไก่สมบูรณ์หรือไม่
ถ้าปีกไก่หักเยอะก็ต้องทำการต่อปีกให้เรียบร้อย
หลังจากต่อปีกเสร็จแล้วต้องเช็คดูว่าปีกไก่กางออกได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ทางที่ดีควรนำขนไก่แทงรูดไปตามร่องห่างแต่ละปีกว่าติดกันหรือไม่
ถ้าติดกันก็ต้องจัดการให้ปีกแยกออกจากกันให้เรียบร้อย
2. ให้เช็คดูเดือยไก่ ถ้าไก่ของเราเป็นไก่เดือยเล็ก
ก็ต้องทำการเคียนเดือยเพื่อป้องกันเดือยโค่น
3. พันก้อยทั้งสองข้างให้เรียบร้อย
การพันก้อยก็เพื่อป้องกันไม่ให้ก้อยหักในขณะที่ชน เพราะถ้าก้อยหัก
จะทำให้ไก่แหยงไม่กล้าที่จะบินตีได้อย่างเต็มที่ หากไก่มีตำหนิอื่น
เช่นรอยถลอก อุ้งเท้ามีแผล แผลใต้นิ้วเท้า
ก็ต้องทำการปิดบาดแผลด้วยการใช้สำลีรองและใช้พลาสเตอร์พันทับ
เพื่อป้องกันแผลบริขณะที่ชน
4. แต่งตัวไก่ให้เรียบร้อย หมายถึงการเช็ดน้ำไก่ การยอนคอไก่ ฯลฯ
และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการเตรียมตัวไก่
หลังจากที่กรรมการในสนามประกาศให้คู่เราเตรียมตัวเข้าสังเวียน
มือน้ำต้องเช็คน้ำแล้วเช็คดูอาหารในกระเพาะแน่นหรือไม่
ถ้าไม่แน่นก็ต้องให้อาหารเพิ่ม แต่ไม่ควรให้แน่นมากเกินไป
หลังจากเช็คน้ำ ยอนคอไก่เสร็จ ก็ให้เช็คดูจมูกว่าโล่งสะดวกไหม
ถ้าจมูกไก่ตันก็ควรดูดหรือเป่าให้โล่ง
เพราะหากจมูกตันจะทำให้ไก่หายใจไม่สะดวกหลังจากนั้นพักให้เดินสักพักเพื่อให้ไก่ได้คลายตัว


การนำไก่เข้าสังเวียนในยกแรก
ก่อนจะปล่อยไก่ควรเช็ดน้ำให้ทั่ว ไม่ควรรีดน้ำออก แต่ควรนำน้ำเข้า
ใต้ก้น ใต้ปีก ตามสีข้าง หน้าอกให้มากเป็นพิเศษ
และก่อนปล่อยไก่ต้องยอนคอ ให้น้ำไก่กิน
และบีบน้ำรดหัวไก่ให้ทั่วบริเวณแผ่นหลัง และหน้าอก
เพราะหากเช็ดน้ำไก่ไม่เปียกหรือที่เรียกว่าไม่ถึงน้ำ ไก่จะหอบง่าย
ไก่ที่หอบจะไม่อยากตีไก่ และจะหมดแรงเร็วกว่าปกติ
ฉะนั้นการเช็ดน้ำไก่นั้นสำคัญมาก ต้องเช็ดให้ทั่ว เช็ดให้ชุ่ม
ก่อนปล่อยไก่เข้าชน
นอกจากดูแลไก่ของเราแล้ว มือน้ำต้องคอยสังเกตไก่ของคู่ต่อสู้ด้วย
เช็คการพันเดือย เช็ดดูการเช็ดน้ำไก่ฝ่ายตรงข้ามว่าตรงไปตรงมาหรือไม่
เพื่อป้องกันการเอาเปรียบของฝ่ายตรงข้าม

การประคองไก่ตอนหมดยก
เมื่อหมดยกมือน้ำจะรู้ทันทีว่า สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร
การประคองไก่จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ถูกคู่ต่อสู้ยำ คือ
ดูแล้วว่าสถานการณ์เป็นรอง กับอีกกรณี คือ ยำคู่ต่อสู้ ซึ่งทั้ง 2
สถานการณ์สำหรับการประคองไก่จะมีความที่แตกต่างกันอยู่ คือ
ไก่ที่โดนคู่ต่อสู้ตีมากๆ บาดแผลเยอะ
มือน้ำต้องดูก่อนว่าโดนที่ตรงไหนบ้าง ซึ่งขั้นตอนตรงนี้
มือน้ำแต่ละคนจะประคองไก่ไม่เหมือนกัน
บางคนเย็บแผลเสร็จหรือแต่งแผลเสร็จก่อนค่อยให้ไก่พัก
บางคนก็ให้ไก่พักก่อนทำแผล ส่วนกรณีที่ไก่โดนตีมากๆ
นอกจากจะให้ไก่พักนานๆแล้ว เราจะต้องประคบกระเบื้องพอสมควร
นั่นคือกรณีที่โดนคู่ต่อสู้ยำ
ไก่ที่เป็นฝ่ายยำคู่ต่อสู้ ก็จะหนักไปทางการให้พักนานๆมากกว่า
การปประคองไก่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตัวไก่

การนวด
การนวดไก่นั้น นวดเพื่อให้หายจากการปวดเมื่อยที่มาจากการตีกัน
การนวดต้องนวดทุกวัน ตั้งแต่เริ่มเลี้ยง จนถึงวันเลิกเลี้ยง
เพื่อให้ไก่ได้เคยชินกับการนวดทุกแห่งในร่างกาย
การนวดไก่นั้นจุดที่สำคัญมีหลายจุด ควรนวดให้ครบทุกจุด ทุกวัน
ไก่จะได้เคยชินกับมือ เมื่อเวลาไก่ออกกำลังมากๆ นานๆ
บางครั้งอาจทำให้เส้นตึง เส้นคัด ถ้าได้นวดก็จะคลายไปได้บ้าง
การนวดจุดของไก่นั้น นวดที่คอ นวดที่ขั่วปีก ที่หน้าอก ปั้นขา นิ้ว
เส้นบนหลัง หัว ทุกจุดล้วนแล้วแต่เป็นจุดที่สำคัญ นวดเบาๆทุกวัน
อย่าให้แรง เพราะถ้านวดแรงเกินไปอาจทำให้ไก่เสียเส้น จงพิจารณาให้ดี
ตรงไหนควรนวดหนักๆ ตรงไหนควรนวดเบาๆ การนวดไก่หลังชนมาเป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะสามารถช่วยให้ไก่ได้กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลา
ไม่อ่อนเพลีย

การแก้ไขไก่เป็นตะคริวและหอบ
การแก้ไขไก่เป็นตะคริว ไก่เป็นตะคริวเกิดจากสาเหตุ โดนตีหนัก
ระบมทุกส่วนของร่างกาย เสียเลือด เมื่อย จะหมดแรง หายใจหอบ
ไก่เป็นตะคริวอาจถึงตาย มือน้ำต้องแก้ไขอย่างรีบด่วนตามอาการของไก่
ไก่ที่เป็นตะคริวส่วนใหญ่ ไก่โดนตีเจ็บหนัก หมดแรงจากการชนหลายยก
การแก้ไขของมือน้ำถ้าเลือดไหลไม่หยุด รีบห้ามเลือดเสียก่อน
ประคบด้วยน้ำอุ่นบริเวณอก ใต้ปีก โคนขา หน้าขา พื้นเท้า นวดคลึงเบาๆ
เมื่ออาการทุเลาหรือดีแล้วให้พักผ่อนคลุมผ้าที่หัว
รมควันให้เกิดความอบอุ่นระยะหนึ่ง ให้ไก่กินยาเสริมกำลังบำรุง
ให้ข้าวบดใส่เนื้อสุก ทำเป็นคำป้อน ให้น้ำมะพร้าว
ให้กินน้ำสะอาดพอสมควร ให้เดินดูเพื่อให้ไก่ถ่าย
ถ้ามีเวลาให้ไก่มาคลุมนอนพักผ่อนอีกครั้งหนึ่ง
ไก่มีอาการหอบ อาการหอบมีสาเหตุเกิดจาก การเตรียมไก่เข้าชน
การอาบน้ำไก่เข้าชนใช้เวลาสั้นหรือน้อยเกินไป
อาบน้ำไก่ไม่เปียกหรือทั่วถึงตัว หรือเลี้ยงไม่เต็มที่ เช่นการตากแดด
การให้กำลัง การให้อาหารไม่ครบ หรือไก่ขณะต่อสู้กันเร่งเกินไป
หวังเอาชนะคู่ต่อสู้เร็วๆ ส่วนมากไก่จะมีอาการหอบในยกแรก
เพราะไก่เร่งเต็มที่ ทำให้ขนแห้ง ความร้อนภายในร่างกายก็เพิ่มขึ้น
ทำให้ไก่มีอาการหอบไม่อยากตีคู่ต่อสู้เลยก็มี เพราะมัวอ้าปากหายใจ
เพื่อระบายเอาความร้อนออกจากร่างกาย
การแก้ไข เมื่อหมดยกรีบเข้าไปประครองไก่ให้น้ำเย็นผสมน้ำอุ่นประคบเบาๆ
บริเวณลำตัว ใต้ปีกสองข้าง หน้าอก กางปีกออกให้ลมพัดผ่านได้ง่ายขึ้น
ใช้พัดลมพัดให้ช้าๆ ใช้ปีกไก่หยอนคอ
ค่อยๆหมุนขนไก่เพื่อเอาเสลดออกมาจากคอ ใช้น้ำเย็นล้างหน้า
ใช้มือด้านใดด้านหนึ่งประคองคอไก่
โดยใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้ปิดหัวไก่เบาๆเอาไว้ทั้งสองข้าง
ป้องกันไม่ให้หูอื้อ หรือลมออกหู
แล้วรีบนำไก่ออกจากสังเวียนมาที่พักให้น้ำ อย่างรีบด่วน
เพื่อแก้อาการหอบให้หาย ไก่จะได้พักนานๆ
และปล่อยให้ไก่เดินเพื่อดูอาการของไก่ และให้ไก่ถ่าย
ถ้าไม่ถ่ายใช้ขนไก่พับแล้วหมุนแหย่เข้าก้นไก่ ไก่จะถ่ายทันที
เรียกว่าสวนขี้ จะทำให้ไก่สดชื่น
แล้วนำเข้าไปลงกระเบื้องอีกหากมีเวลาพักเหลือ







---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: